ศูนย์ทดสอบทางวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อตั้งขึ้นใน ปี พ.ศ. 2539 เดิมใช้ชื่อว่า “สำนักทดสอบทางวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ต่อมาจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ศูนย์ทดสอบทางวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” โดยอาศัยอำนาจตามมติที่ประชุมสภามหาวิทยาลัย ครั้งที่ 526/2539 จัดตั้งเป็นหน่วยงานวิสาหกิจ ที่แสวงหาเงินรายได้ด้วยตนเอง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาเทคนิคและวิธีทดสอบแบบต่างๆ ให้มีความเหมาะสมกับศาสตร์โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่และโดยการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมการพัฒนาแบบทดสอบที่มีอยู่แล้วในมหาวิทยาลัยให้มีมาตรฐานมากยิ่งขึ้น สามารถเป็นแหล่งอ้างอิงด้านการทดสอบทั้งจากภายในประเทศและต่างประเทศ โดยรวบรวมบุคลากรที่มีความสามารถและประสบการณ์ด้านการทดสอบของมหาวิทยาลัยมาทำงานร่วมกันเพื่อให้ได้นวัตกรรมทางด้านการทดสอบ เป็นหน่วยงานกลางที่คอยประสานงานระหว่างคณะและสถาบันต่างๆ ในด้านการจัดทดสอบ รวมถึงการให้บริการแก่สังคมเกี่ยวกับด้านการทดสอบ และการให้บริการเผยแพร่ความรู้ด้านเทคนิคและวิธีการทดสอบแก่บุคลากรทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย

ศูนย์ทดสอบทางวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้บริการโดยเน้นผู้รับบริการเป็นศูนย์กลางมาโดยตลอดไม่ว่าจะเป็นการจัดกิจกรรมด้านการจัดสอบหรือการจัดอบรมสัมมนา ในปี พ.ศ. 2546 ศูนย์ทดสอบทางวิชาการฯ ได้ริเริ่มการพัฒนาระบบการลงทะเบียนสอบแบบ Online เพื่อเพิ่มความสะดวกรวดเร็วให้แก่ผู้รับบริการทั่วประเทศมากยิ่งขึ้น ทำให้ผู้สมัครไม่ต้องเสียเวลาในการจัดส่งหลักฐานการสมัครมาทางไปรษณีย์เหมือนในระบบเดิม นอกจากนี้ ศูนย์ทดสอบทางวิชาการฯ ยังได้ดำเนินการพัฒนาแบบทดสอบประเภทต่างๆ เพื่อมุ่งตอบสนองความต้องการของกลุ่มผู้รับบริการในทุกระดับ สำหรับในด้านการเผยแพร่ความรู้ทางด้านการทดสอบ วัดผล และประเมินผล ศูนย์ทดสอบทางวิชาการฯ ได้เพิ่มการให้บริการด้านการจัดสัมมนาและอบรมจากเดิมที่เปิดรับสมัครเฉพาะอาจารย์ นักวิชาการศึกษาและนักวัดผลในระดับอุดมศึกษาของสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ เป็นการขยายการบริการให้กับครู อาจารย์ นักวิชาการศึกษาและนักวัดผลจากโรงเรียนต่างๆ ในระดับมัธยมศึกษาทั่วประเทศ

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาศูนย์ทดสอบทางวิชาการฯ ได้พัฒนาคุณภาพการให้บริการและมาตรฐานของแบบทดสอบ จนเป็นที่ยอมรับของหน่วยงานที่มาขอรับบริการทั้งจากภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย โดยตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา

วิสัยทัศน์ เป็นผู้นำในการให้บริการทดสอบทางวิชาการ การวัดสมรรถนะและประเมินศักยภาพ ในระดับชาติ
พันธกิจ ให้บริการทดสอบทางวิชาการที่หลากหลาย ครบวงจร มีคุณภาพ และได้มาตรฐานในระดับสากล
ภารกิจของหน่วยงาน
  • พัฒนาเทคนิคและวิธีการทดสอบแบบต่างๆ ให้เหมาะสมกับศาสตร์โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่และโดยการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
  • ส่งเสริมการพัฒนาแบบทดสอบที่มีอยู่แล้วในมหาวิทยาลัยให้มีมาตรฐานมากยิ่งขึ้น
  • ดำเนินการจัดสร้างแบบทดสอบมาตรฐาน เพื่อให้บริการแก่บุคลากรทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย
  • ดำเนินการคัดเลือกนักเรียนเข้าศึกษาในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโดยวิธีรับตรงและการร่วมกับสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติในการสอบคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษา
  • ประสานงานกับหน่วยงานอื่นในมหาวิทยาลัยในเรื่องการจัดสอบต่างๆ
  • เผยแพร่ความรู้ด้านเทคนิคและวิธีการทดสอบแก่บุคลากรทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย